“BOI-ฉางอาน” ต่อยอดดันไทยฮับ “EV” อาเซียน ดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่ไลน์ผลิต เดินหน้าจัดงาน CHANGAN Sourcing Day รับการผลิต EV ต้นปี 68 เผยยอดเจรจาธุรกิจเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มอีกกว่า 3,600 ล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอ ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด จัดหาชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศ สำหรับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ของบริษัท ฉางอาน จำนวน 6 กลุ่ม ประกอบด้วย
Interior and Exterior Group ,Stamping Group ,Sealing and Sound Absorption Group ,Aluminum Die-Casting Group ,Suspension System Group และ Electrical Parts Group
โดยมีบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมเจรจาธุรกิจในครั้งนี้จำนวน 78 คู่ ครอบคลุมชิ้นส่วนหลักๆ ตามความต้องการของฉางอาน เช่น High Voltage Harness, Outside Door Handle, E-Drive, Cross Car Beam (Die Casting), Intelligent Thermal, Outside Door mirror และ Headlining/Carpet ซึ่งจากการประเมินผลเบื้องต้น พบว่าการเจรจาธุรกิจในครั้งดังกล่าวจะเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 3,600 ล้านบา
ทั้งนี้ ฉางอาน เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตยานยนต์อันดับต้น ๆ ของจีน มียอดขายสะสมกว่า 26 ล้านคัน และในปี 2566 มียอดขายทั่วโลกมากกว่า 2.55 ล้านคัน อีกทั้งเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม โดยมีบุคลากรในทีมวิจัยและพัฒนากว่า 18,000 คน
เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ฉางอาน ได้ประกาศแผนสร้างฐานการผลิตในไทย โดยมีเงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาแห่งแรกของบริษัทที่อยู่นอกประเทศจีน และเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ โรงงานจะตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง กำลังการผลิตรวม 100,000 คันต่อปี และจ้างงานกว่า 2,000 คน โดยได้วางศิลาฤกษ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 และคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องการผลิตได้ในช่วงต้นปี 2568 นี้
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดกิจกรรม Sourcing Day ร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ BYD, NETA, MG และ BMW ได้ทำให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 42,000 ล้านบาท
โดยการดำเนินงานร่วมกับฉางอานครั้งดังกล่าวนี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศใน Tier ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดซื้อชิ้นส่วน การว่าจ้างผลิต หรือการร่วมมือเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาสู่ผู้ประกอบการไทย
“บริษัท ฉางอาน ได้ประกาศเป้าหมายการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากถึง 60% ภายในปีแรก และจะเพิ่มถึง 80% ภายใน 5 ปี”