งานนี้จัดขึ้นโดย Center for the Americas ในสังกัด China International Communications Group (CICG), สหพันธ์สมาคมเหลียวหนิงแห่งฮ่องกง และฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ประจำบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่างเทนเซ็นต์ (Tencent)
โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ในธีม “Exploring New Quality Productive Forces” โดยเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้มีทั้งผู้ประกอบการ นักเทคโนโลยี นักวิชาการ ผู้นำทางความคิด และสื่อมวลชน
ในกรุงปักกิ่งเมืองหลวงของจีนนั้น ตัวแทนเยาวชนกลุ่มนี้ได้เยี่ยมชมสำนักงานของเทนเซ็นต์ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมซอฟต์แวร์จงกวนชุน หรือที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” ของจีน เพื่อทำความรู้จักกับเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ของเทนเซ็นต์ รวมถึงแพลตฟอร์มชำระเงินผ่านมือถืออย่าง WeChat Pay ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ใช้ชีวิตในจีนได้สะดวกสบายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหารและเรียกแท็กซี่
สเตซีย์ แอน เพียร์สัน (Stacey Ann Pearson) หัวหน้าฝ่าย Web3 ประจำเอเชียแปซิฟิก จากอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services) ซึ่งเป็นหนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยจีนไม่ได้เป็นผู้ตามอีกต่อไป แต่จีนได้รับบทบาทเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม” จนกลายเป็นว่านวัตกรรมต่าง ๆ มาจากจีน และมีผู้นำนวัตกรรมจีนไปผลิตซ้ำต่ออีกทอดหนึ่งแทน
ส่วนที่เมืองเฉิ่นหยางและมณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนนั้น เยาวชนที่ร่วมโครงการได้เยี่ยมชมโรงงานของบริษัทผลิตภัณฑ์นมยักษ์ใหญ่ของจีนที่คนไทยอาจพอคุ้นชื่อกันบ้างอย่างอีลี่ (Yili) พิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมจีน ไปจนถึงศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมนานาชาติองค์กรจีน-เยอรมนี ถนนนานาชาติจีน-เยอรมนี ซึ่งสะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับเยอรมนีในพื้นที่นี้
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้มีโอกาสเยือนเขตใหม่สยงอัน (Xiong’an New Area) เจ้าของฉายา “เมืองแห่งอนาคต” ของจีน ห่างจากกรุงปักกิ่งราว 100 กิโลเมตร และได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งปัจจุบันแออัดมากเกินไปเพราะมีประชากรกว่า 21 ล้านคน หรือมากกว่ากรุงเทพฯ ถึงเท่าตัว
เขตใหม่สยงอันถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 เมื่อทางการจีนได้ประกาศแผนจัดตั้งเขตใหม่ดังกล่าว โดยหวังปั้นสยงอันให้เป็นเมืองระดับโลกที่เพียบพร้อมด้วยนวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และชาญฉลาด
ทางการจีนได้สร้างเขตใหม่สยงอันตั้งแต่ยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเมื่อ 7 ปีก่อน ทำให้วางผังเมืองได้ตามที่ต้องการ โดยได้สำรวจเมืองหลายสืบเมืองทั่วโลกเพื่อหาแรงบันดาลใจในการสร้างเมืองใหม่นี้ให้น่าอยู่ ส่งผลให้เขตใหม่สยงอันมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 70% และไม่มีตึกสูงมากเหมือนกับกรุงปักกิ่ง สูงสุดแค่ประมาณ 150 เมตร ทั้งยังมีการสร้างที่จอดรถใต้ดิน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยใช้จอดรถแทนการจอดริมถนน เพราะเมืองนี้ไม่อนุญาตให้จอดรถริมถนน
นอกจากนี้ การก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เช่น กระจกที่ใช้ในการสร้างอาคารนั้นดูดซับแสงอาทิตย์เพื่อใช้เป็นพลังงานได้ ทั้งยังมีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) คอยทำหน้าที่ปรับอุณหภูมิภายในอาคารตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนคนในอาคาร องศาของดวงอาทิตย์ เป็นต้น เพื่อให้ใช้พลังงานได้คุ้มค่าที่สุด
ปัจจุบัน เขตใหม่สยงอันมีประชากรอยู่อาศัยจริงแล้วประมาณ 1 ล้านคน จากที่ตั้งเป้าให้มีผู้อยู่อาศัยให้ได้กว่า 5 ล้านคน เท่ากับว่าหนทางยังอยู่อีกยาวไกล โดยทางการจีนก็มีนโยบายเพื่อดึงดูดให้ผู้ที่อยู่อาศัยในปักกิ่งย้ายมาอยู่ในเมืองใหม่นี้แทน ไม่ว่าจะใช้ไม้แข็งด้วยการ “สั่ง” ผู้ที่ทำงานในภาครัฐให้ย้ายมาอยู่ในเมืองใหม่นี้ หรือเพิ่มค่าจ้างให้ผู้ที่ย้ายมาทำงานในเมืองใหม่ ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่ถูกกว่ากรุงปักกิ่งก็ทำให้เมืองนี้น่าย้ายมาอยู่มากขึ้น ทั้งยังมีแผนดึงดูดคนรุ่นใหม่ เช่น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาและเพิ่งเริ่มทำงานให้มาอยู่ในเมืองนี้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีภาระจากการที่ต้องลงหลักปักฐานเหมือนผู้ใหญ่ที่ทำงานมานาน ขณะเดียวกันก็มีแผนเชิญธุรกิจทั้งจีนและต่างชาติให้มาทำธุรกิจในเขตใหม่สยงอันด้วย
ทั้งนี้ โครงการ Future Close-Up มีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวทั่วโลกเข้าใจจีนมากขึ้น โดยเป็นเวทีให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างจีนกับนานาประเทศ ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่สองแล้ว
กนิษฐ์นุช สิริสุทธิ์ จากทีมข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเยาวชนที่ร่วมโครงการนี้ ได้เปิดเผยความประทับใจจากทริปนี้ว่า การเดินทางเยือนจีนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว และทุกครั้งที่ได้มาก็รู้สึกทึ่งไปกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลจีน รวมถึงมันสมองและความมุ่งมั่นของคนจีนในการใช้เทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิต เทคโนโลยีที่ประทับใจที่สุดจากทริปนี้คือเทคโนโลยีสแกนฝ่ามือของเทนเซ็นต์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ฝ่ามือของเราในการชำระเงิน เช่น สแกนฝ่ามือเพื่อใช้บริการรถไฟใต้ดิน หรือจ่ายค่าสินค้าในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีการนำร่องใช้งานจริงแล้วในพื้นที่บางส่วนของจีน เมื่อได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่าอยากให้ประเทศไทยมีอะไรแบบนี้เช่นกัน เพื่อให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายมากขึ้น