เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน สื่อจีนอย่าง China Xinhua News ได้ออกมาเปิดเผยว่า ท่ามกลางทะเลทรายเวิ้งว้างในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนกำลังควบคุมและใช้ประโยชน์จากสารพัดเทคโนโลยีเรือนกระจกล้ำสมัย เพื่อปลดล็อกศักยภาพทางการเกษตรของผืนดินอันไม่อุดมสมบูรณ์
คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันการเกษตรเขตเมือง (IUA) สังกัดสถาบันบัณฑิตเกษตรศาสตร์แห่งชาติจีน ได้เก็บเกี่ยวข้าวที่เพาะปลูกในทะเลทรายชุดแรก ณ เรือนกระจกบนพื้นที่นับหมื่นเอเคอร์ (ราว 2.5 หมื่นไร่) ในเมืองเหอเถียนทางตอนใต้ของซินเจียง เมื่อไม่นานนี้
หยางฉีฉาง หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันการเกษตรฯ กล่าวว่า ข้าวถูกเพาะปลูกในเรือนกระจกแบบโครงสามชั้นที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างแม่นยำ และสามารถเก็บเกี่ยวภายในเวลาเพียง 2 เดือน ซึ่งเร็วกว่าหลายวิธีการทั่วไปเกือบครึ่งหนึ่งของวงจรการเติบโต
ความสำเร็จนี้สานต่อความสำเร็จก่อนหน้าที่โรงงานเพาะปลูกในนครเฉิงตู มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่ซึ่งทีมงานของหยางสามารถตัดลดระยะเวลาเจริญเติบโตเป็นครั้งแรกผ่านเทคโนโลยีเร่งการเจริญเติบโต (speed breeding) ในปี 2021
หยางมองว่าสภาพภูมิอากาศสุดขั้วของทะเลทรายเมืองเหอเถียนกลายเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค โดยจุดเด่นทางภูมิศาสตร์อันมีลักษณะเฉพาะ ทั้งแสงแดดยาวนานและความแตกต่างมากของอุณหภูมิตอนกลางวัน-กลางคืน กลายเป็นเงื่อนไขที่ดีต่อการเพาะปลูกพืชผล
นอกจากนั้นคณะนักวิจัยได้เร่งการเจริญเติบโตของข้าวด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีตัวรับแสงแอลอีดี (LED) แบบไดนามิก สูตรสารละลายธาตุอาหารพิเศษ และการเพาะปลูกแบบไม่ใช้ดินอันล้ำสมัย
สื่อต้าเหว่ย นักวิจัยช่วยประจำสถาบันการเกษตรฯ กล่าวว่าศักยภาพของการเกษตรแบบป้องกันด้วยโรงเรือนมีอนาคตสดใสเพิ่มขึ้นด้วยการใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิอากาศทะเลทราย เช่น ทรัพยากรแสงและความร้อนเหลือเฟือ ซึ่งปูทางสู่การผลิตอาหารที่ยั่งยืนในซินเจียง
หยางเสริมว่าการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานต่างๆ ของเรือนกระจกกลางทะเลทรายเมืองเหอเถียนกำลังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับเรือนกระจกแบบดั้งเดิม
ปัจจุบันต้นทุนการก่อสร้างเรือนกระจกกลางทะเลทรายแบบประหยัดพลังงานอยู่ที่ 350 หยวน (ราว 1,750 บาท) ต่อตารางเมตร คิดเป็นราวหนึ่งในสามของเรือนกระจกแบบดัตช์ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในตัวอย่างการเกษตรแบบป้องกันชั้นนำ ส่วนต้นทุนการดำเนินงานอยู่ที่ราวร้อยละ 25 ของเรือนกระจกแบบดัตช์
หยางกล่าวว่าต้นทุนการก่อสร้างและการดำเนินงานของเรือนกระจกกลางทะเลทรายแบบประหยัดพลังงานนี้อาจลดลงอีกในอนาคตด้วยการใช้พลังงานสีเขียว เครื่องจักร และปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เรือนกระจกแบบนี้มีความสามารถทางการแข่งขันสูงในระดับนานาชา
ความคืบหน้าของเทคโนโลยีเร่งการเจริญเติบโตของพืชผลในเรือนกระจกกลางทะเลทรายกลายเป็นแรงสนับสนุนทางเทคนิคสำหรับการใช้เรือนกระจกกลางทะเลทรายในการผลิตและเร่งการเจริญเติบโตของพืชผลในซินเจียงในอนาคต
หยางและทีมวิจัยยังสำรวจตรวจสอบหลายเทคโนโลยีสำคัญในการเร่งการเจริญเติบโตของพืชผลหลัก เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี รวมถึงเมล็ดพันธุ์ทำน้ำมัน ฝ้าย และถั่วอัลฟัลฟา ที่เรือนกระจกกลางทะเลทรายในเมืองเหอเถียนด้วย