ยานฉางเอ๋อ-6 ของจีน ลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์สำเร็จ

Picture of Admin aek
Admin aek

องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เผยว่า ยานอวกาศภารกิจฉางเอ๋อ-6 ลงจอดที่หลุมขนาดใหญ่เรียกว่า “แอ่งขั้วใต้-เอตเคน” (South Pole-Aitken Basin) บนด้านไกลของดวงจันทร์ เมื่อเวลา 06.23 น. วันนี้ตามเวลาท้องถิ่นของจีน

จีนปล่อยยานอวกาศขึ้นจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชาง มณฑลไห่หนาน พร้อมกับจรวดลองมาร์ช 5 เมื่อวันที่ 3 พ.ค. โดยมีเป้าหมายเพื่อเก็บตัวอย่างดินและหินบนดวงจันทร์ ปริมาณ 2 กิโลกรัม จากหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่บนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ เพื่อนำกลับมายังโลก

อย่างไรก็ตาม การลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์เต็มไปด้วยความเสี่ยง เนื่องจากเป็นการยากมากที่จะสื่อสารกับยานอวกาศเมื่อไปถึงอีกฟากหนึ่งของดวงจันทร์ จีนถือเป็นประเทศเดียวที่เคยประสบความสำเร็จดังกล่าว ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ยานฉางเอ๋อ-4 เป็นยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จ และสามารถส่งภาพถ่ายกลับมายังโลกได้ ต่อมาในเดือน ธ.ค. 2563 ยานฉางเอ๋อ-5 ได้ส่งตัวอย่างดินจากดวงจันทร์ น้ำหนัก 1.7 กิโลกรัม จากพื้นที่ที่เรียกว่า “ทะเลพายุ” (Oceanus Procellarum) ซึ่งเป็นแอ่งขนาดใหญ่บนดวงจันทร์ กลับมายังโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 44 ปี

ในระหว่างการลงจอด ระบบหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางอัตโนมัติได้ถูกนำมาใช้เพื่อตรวจจับสิ่งกีดขวาง โดยกล้องจะเลือกพื้นที่ลงจอดที่ค่อนข้างปลอดภัย โดยพิจารณาจากความสว่างและความมืดของพื้นผิวดวงจันทร์ โดยยานได้ลอยอยู่เหนือพื้นที่ลงจอดที่ปลอดภัยประมาณ 100 เมตร และใช้เครื่องสแกน 3 มิติแบบเลเซอร์ก่อนจะร่อนลงในแนวตั้งอย่างช้าๆ

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ระบุว่า ภารกิจดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะรวบรวมตัวอย่างดินและหิน ประมาณ 2 กิโลกรัม โดยใช้สว่านและแขนกล ในบริเวณแอ่งขั้วโลกใต้-เอตเคน ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาตถือเป็นแอ่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในระบบสุริยะ

ทั้งนี้ ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ถือเป็นขอบเขตถัดไปในภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ของประเทศต่างๆ ที่ต่างแสดงความกระตือรือร้นที่จะทำความเข้าใจต่อพื้นที่นี้ เนื่องจากมีโอกาสที่จะพบน้ำแข็ง ขณะที่การเข้าถึงน้ำจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างฐานมนุษย์บนดวงจันทร์เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ

หากภารกิจครั้งนี้ของจีนสำเร็จ ยานจะกลับมายังโลกพร้อมกับตัวอย่างบนยานแคปซูล ตัวอย่างดินและหินจะถูกเก็บรักษาไว้ในสภาวะพิเศษเพื่อพยายามรักษาให้คงสภาพเดิมมากที่สุด นักวิทยาศาสตร์จีนจะได้รับโอกาสในการวิเคราะห์หินและดินเป็นชาติแรก ส่วนนักวิจัยทั่วโลกก็สามารถได้รับโอกาสนี้ได้เช่นกัน

จีนกำลังวางแผนภารกิจส่งยานอวกาศไร้ลูกเรืออีก 3 ภารกิจในทศวรรษนี้ เพื่อค้นหาน้ำบนดวงจันทร์ และพิจารณาการตั้งฐานทัพถาวรที่นั่น นอกจากนั้นจีนยังมีเป้าหมายที่จะส่งนักบินอวกาศไปเดินบนดวงจันทร์ภายในปี 2573.

The End

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ไดเรกทอรีไทย-จีน

ลงประกาศได้แล้ววันนี้
Latest News
Categories

Subscribe our newsletter

Purus ut praesent facilisi dictumst sollicitudin cubilia ridiculus.