‘ภูมิธรรม’ โปรยยาหอมทัพนักธุรกิจจีน 140 ราย ‘นายกฯเศรษฐา’ สั่งแก้กฎดึงลงทุน

Picture of Admin aek
Admin aek

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม RCEP Business Opportunities Matchmaking (จีน-ไทย) ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดยสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คณะกรรมการความร่วมมืออุตสาหกรรม RCEP

โดยในงานนี้มีการเชิญชวนนักธุรกิจที่มีศักยภาพจีนกว่า 145 ราย ใน 10 สาขาเศรษฐกิจ จาก 60 สมาคมมาลงทุนในไทย ใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ GDP ประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกภาคเอกชน และมีนักธุรกิจไทยร่วมมากถึง 300 ราย

สานสัมพันธ์ไทย-จีน
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไทยกับจีนความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ในปีหน้า (2568) จะครบรอบ 50 ปี หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ซึ่งจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา การค้า 2 ฝ่ายมีมูลค่าสูงถึง 105,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 18 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องจากความตกลง FTA โดยเฉพาะ RCEP ซึ่งจีนเป็นหัวหอกขับเคลื่อนที่สำคัญ และ RCEP เป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และไทย-จีน ยังเป็นสมาชิกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ที่อยู่ระหว่างการยกระดับให้ทันสมัย

โดยคาดหวังว่าไทย-จีน จะขยายโอกาสทางการค้าทั้งสินค้า บริการและการลงทุนระหว่างกัน ผ่านความตกลง RCEP อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ผู้ประกอบการมีวัตถุดิบที่หลากหลาย ส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ขยายเครือข่ายภาคการผลิต และกระจายสินค้าในภูมิภาค เชื่อมโยงสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลกผ่านการใช้สิทธิพิเศษผ่านข้อตกลงดังกล่าว

“นายกรัฐมนตรีสั่งให้ไปดูกฎหมาย อันไหนที่เป็นอุปสรรคการค้า-การลงทุนกับจีนให้แก้ เพื่อให้เกิดความสะดวก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และรับผิดชอบ EEC ยืนยันว่าไทยพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนจีนใช้ประโยชน์จากข้อตกลง RCEP ซึ่งจะนำไปสู่การขยายมูลค่าการค้า และ GDP ของภูมิภาค RCEP ให้เติบโตขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการตั้งฐานการผลิตในไทย ในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-Curve ที่เป็นเป้าหมายในการต่อยอดอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นในอนาคต”

เพิ่มเอ็มโอยูรายมณฑล
นายภูมิธรรมยังกล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์สร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างเอกชน 2 ฝ่าย โดยทำงานลงลึกในพื้นที่เป็นรายภูมิภาค/มณฑล มีแผนจะขยาย MOU กับรัฐบาลท้องถิ่นจีนเพิ่มอีก 8 ฉบับ ได้แก่ ฝูเจี้ยน เฮยหลงเจียง ชานซี เจ้อเจียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เหอเป่ย์ ชานตง และจี๋หลิน จากปัจจุบันที่ลงนาม 4 ฉบับ ได้แก่ มณฑลไห่หนาน มณฑลกานซู มณฑลเสิ่นเจิ้น และมณฑลยูนนาน

“เอ็มโอยูจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะ SMEs เพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุนระหว่างกัน ซึ่งไทยสามารถเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและเอเชียกลาง กระจายสินค้าได้ทั่วโลก มีความพร้อมทั้งโลจิสติกส์ แรงงาน บริการ รัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุน ท่านนายกฯสั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนแก้ไขปรับกฎระเบียบส่งเสริมเอกชน และทุกหน่วยงาน พร้อมเอื้อการลงทุนให้สะดวกและได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI EEC และฟรีวีซ่า และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน”

“ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก และเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ระเบียบการค้าโลกใหม่ต้องปรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เน้นเศรษฐกิจสีเขียวที่ทุกภาคอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยน ขอสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีฐานการผลิตในไทยและอาเซียน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจบริการต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

โดยไม่เพียงแต่จะสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีคุณภาพ ต้นทุนทางธุรกิจที่เหมาะสม ประเทศไทยยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตสำหรับกลุ่มคนทำงานด้วย เช่น ความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบรักษาพยาบาล โรงเรียน แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น” นายภูมิธรรมกล่าว

หนุน One Belt One Road
นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยสนันสนุนการดำเนินนโยบายเส้นทาง One Belt One Road เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค และสร้างโอกาสในด้านการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs

“การร่วมมือกัน สิ่งที่สำคัญคือความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เรามีความสัมพันธ์กับจีนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง และเมื่อเกิดสึนามิ จีนส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเรา เรื่องนี้ยังอยู่ในหัวใจคนไทยเสมอไม่เคยลืม เป็นพื้นฐาน นำมาสู่การร่วมมือกันมากขึ้น”

ผู้สื่อข่าวระบุว่า ภายในงานมีนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย Mr.Xu Ningning, Chairman of RCEP Industry Cooperation Committee (RICC) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและจีน นักธุรกิจจากทั่วประเทศจีนมากกว่า 145 คน และนักธุรกิจไทยกว่า 300 คนร่วมด้วย

สำหรับการค้ารวมของไทยกับกลุ่มประเทศ RCEP ในปี 2023 มีมูลค่ารวมถึง 3.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 54.41 ของการค้ารวมของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP มูลค่ากว่า 1.45 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันไทยมีความตกลง FTA แล้ว 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ซึ่งรวมความตกลง RCEP โดยอยู่ระหว่างการพิจารณากระบวนการรับสมาชิกใหม่ ซึ่งขณะนี้มีประเทศ/เขตศุลกากรอิสระ แสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลง ได้แก่ ฮ่องกงและศรีลังกา และอยู่ระหว่างจัดตั้งหน่วยงานความตกลง RCEP (RCEP Supporting Unit : RSU) โดยมีเป้าหมายให้เริ่มปฏิบัติงานได้ภายในปี 2024

The End

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ไดเรกทอรีไทย-จีน

ลงประกาศได้แล้ววันนี้
Latest News
Categories

Subscribe our newsletter

Purus ut praesent facilisi dictumst sollicitudin cubilia ridiculus.