“สุริยะ” แลกเปลี่ยนความเห็น “ผู้บริหารหัวเว่ย” ปลุกเทคโนโลยี AI หนุนใช้ระบบคมนาคมขนส่งไทย หวังลดอุบัติเหตุ แก้ปัญหาผู้ขับขี่กระทำความผิด
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังเข้าเยี่ยมชมเทคโนโลยีขั้นสูงด้านคมนาคมขนส่ง (Smart Transport Technology) ที่ศูนย์แสดงผลงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอัจฉริยะของหัวเว่ย (Huawei Da Vinci Exhibition Hall) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ได้เยี่ยมชมเทคโนโลยีด้านระบบคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ Mr. Jeff Wang รองประธานบริษัทหัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง
“การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้หารือร่วมกับบริษัทหัวเว่ยในเรื่องการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านคมนาคมขนส่งในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้มากที่สุด ทั้งในด้านความสะดวก ความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งสินค้า เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้น และผลักดันให้ไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วในระยะต่อไป”
ขณะเดียวกันบริษัทหัวเว่ยได้แจ้งความประสงค์ในการจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันเพื่อร่วมมือกันพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างบริษัทหัวเว่ยกับกระทรวงคมนาคมให้บรรลุวัตถุประสงค์ในด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นยกระดับการดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมั่นคงต่อไป
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า บริษัทหัวเว่ยยังได้รายงานถึงแนวทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่เน้นดำเนินการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ พร้อมนำเสนอโครงการ Future of Transportation มุ่งเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green), การขนส่งอัจฉริยะ (Smart), การขนส่งที่เข้าถึงกลุ่มคน (Mass), และการขนส่งยั่งยืน (Sustainable)
นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อมูลถึงระบบรถไฟในประเทศจีนและประเทศต่าง ๆ ที่บริษัทฯ ได้ดำเนินงานมาทั่วโลก 28 ปี รวมทั้งเสนอการให้บริการของ Transport Operation Control Center (TOCC) ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อความสะดวก ความปลอดภัย และตรงต่อเวลาของการให้บริการ สำหรับการดำเนินการเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การติดตามระบบจราจร เพื่อนำมาวิเคราะห์และควบคุมสถานการณ์ 2.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนขับหรือผู้ควบคุมยานพาหนะโดยใช้ AI และ 3.ระบบการควบคุมคนขับยานพาหนะสาธารณะ โดย 3 ด้านดังกล่าว จะนำมารวบรวมข้อมูล (Big Data) บนแพลตฟอร์ม (Platform) เดียว และจะนำข้อมูลที่ได้มาใช้วิเคราะห์ เพื่อสร้างระบบการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ และป้องกันการกระทำผิดของผู้ขับขี่ เช่น แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร เป็นต้น