นพ.พิชิต กังวลกิจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงาน 5 เดือนแรกปี 2567 โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน-แยกสะพานควาย เติบโต 25% โดยติบโตมากในช่วงไตรมาสแรก ส่วนไตรมาส 2 เริ่มชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ทั้งปีนี้ คาดว่ายังเติบโตได้ตามเป้าหมาย 30% หรือมีรายได้ 1,300 ล้านบาท จำนวนคนไข้คาดว่าจะเติบโตได้ 20% โดยล่าสุดมีจำนวนผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 450 คน/วัน และ ผู้ป่วยใน 50 คน/วัน
โดยเป็นคนไข้ชาวต่างชาติประมาณ 8% ส่วนใหญ่เป็นกัมพูชา เมียนมา รักษาโรคทั่วไป ส่วนออสเตรเลีย เป็นคนไข้ศัลยกรรมผ่าตัดลดน้ำหนัก และ ตะวันออกกลาง เป็นคนไข้รักษาโรคเบาหวาน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้ป่วยต่างชาติมีกำลังซื้อสูง ประกอบกับตั้งแต่หลังโควิดสถานการณ์ชาวต่างชาติมาเข้ามารักษาพยาบาลในไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และมาถึงปัจจุบันถือว่าจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาพยาบาลในไทยสูงกว่าช่วงโควิดแล้ว ดังนั้นการที่จะพยายามรักษาผู้ป่วยชาวต่างชาติให้ได้มากขึ้น จะต้องมีการบริการรักษาโรคที่ยากสลับซับซ้อน ซึ่งทางโรงพยาบาลมีความชำนาญอยู่แล้วรวมไปถึงการรักษาโรคเฉพาะเมืองใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยบางประเทศมีความต้องการ เช่น แผลเบาหวาน จะมีปัญหามากในผู้ป่วยตะวันออกกลาง ซึ่งการดูแลรักษาต้องใช้ทั้งความชำนาญของแพทย์ เทคโนโลยี และระยะเวลาในการรักษานาน โดยต้องอาศัยแพทย์หลายสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นจุดแข็งด้านการบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลวิมุต ทำให้ดึงดูดผู้ป่วยชาวต่างชาติให้เข้ามารักษาเพิ่มขึ้น
สำหรับแผนการดำเนินงานครึ่งปีหลังนี้ จะมีการร่วมทุนกับพันธมิตรจากประเทศจีน เพื่อเตรียมจะเปิดให้บริการดูแลรักษาผู้มีบุตรยากในต้นปี 2568 ซึ่งจะรองรับผู้ป่วยที่มีความต้องการจากจีน ที่ปัจจุบันมีความต้องการสูง โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท
ขณะเดียวกันล่าสุด โรงพยาบาลวิมุต ได้เปิด 4 คลินิกเฉพาะทาง ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อรองรับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของคนวัยทำงาน ประกอบด้วยคลินิกปวดศีรษะ, คลินิกกรดไหลย้อนและท้องผูก, คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ และคลินิกโรคจมูกและไซนัสการดูแลสุขภาพ ซึ่งคนวัยทำงานเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ทั้งสิ้น 58.92 ล้านคน และจากผลสำรวจของสถาบันวิจัยจีเอฟเค ยังพบว่าคนไทยมีชั่วโมงการทำงานสูงถึงสัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่สัปดาห์ละ 40-44 ชั่วโมง
โดยตัวเลขชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินค่าเฉลี่ยของคนไทยสะท้อนถึงความเสี่ยงในการล้มป่วยด้วยโรคที่คนวัยทำงานหลายโรค ที่ล้วนมีปัจจัยจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่สมดุล พักผ่อนน้อย-ออกกำลังกายไม่เพียงพอ รับประทานอาหารไม่เหมาะสม ความเครียด ฝุ่นและมลภาวะ รวมถึงการนั่งจ้องหน้าจอเป็นเวลานานติดต่อกัน