รายงานนโยบายการเงินแห่งประเทศจีน ปี 2024 เปิดเผยว่าสถานะของสกุลเงินเหรินหมินปี้หรือหยวนของจีนบนเวทีระหว่างประเทศได้ขยับขยายเพิ่มขึ้น และสัดส่วนของสกุลเงินเหรินหมินปี้ในการชำระเงินข้ามพรมแดนและทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย
ข้อมูลจากสมาคมเพื่อการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (SWIFT) ระบุว่าสัดส่วนของสกุลเงินเหรินหมินปี้ในการชำระเงินทั่วโลกสูงถึงร้อยละ 4.6 ในเดือนพฤศจิกายน 2023 ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แซงหน้าสกุลเงินเยนของญี่ปุ่นขึ้นเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้ชำระเงินมากที่สุดอันดับ 4 ของโลก
อนึ่ง รายงานข้างต้นร่วมออกโดยสาขาวิชาการเงินของมหาวิทยาลัยชิงหัว และศูนย์วิจัยนโยบายการเงินของสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน ณ นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน เมื่อวันจันทร์ (27 พ.ค.) ที่ผ่านมา
ติงจื้อเจี๋ย ผู้เผยแพร่รายงานนี้และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเงินตราต่างประเทศ สังกัดสำนักบริหารเงินตราต่างประเทศแห่งรัฐของจีน กล่าวว่ามีการเริ่มต้นใช้สกุลเงินเหรินหมินปี้ของจีนเป็นสกุลเงินที่สามแล้ว และปัจจุบันบรรดานักลงทุนชาวต่างชาติถือครองสินทรัพย์ในจีนราว 10 ล้านล้านหยวน (ราว 50 ล้านล้านบาท)
รายงานนี้สรุปความพยายามของจีนในการสร้างระบบการเงินอันทันสมัยที่มีอัตลักษณ์จีนและผลักดันการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมการเงินภายในประเทศ ขณะระบบการเงิน ตลาด และกฎระเบียบของจีนพัฒนาดีขึ้นตามการปฏิรูปทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้จีนเป็นผู้มีบทบาททางการเงินรายสำคัญของโลก
ติงกล่าวถึงความสามารถทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสถาบันการเงินของจีน โดยธนาคารจีน 5 แห่ง ติดการจัดอันดับธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบระดับโลก 29 แห่ง และทำคะแนนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสะท้อนการพัฒนาอันรวดเร็วของธนาคารของจีนและการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันสถานะของจีนในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย โดยฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และเซินเจิ้น ยังคงจัดอยู่ในกลุ่มศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำ 20 อันดับแรกของโลก