ลุยแก้สัญญา”ไฮสปีด” ซี.พี.ยอมวางแบงก์การันตีเพิ่ม 1.2 แสนล้าน

Picture of Admin, JOE
Admin, JOE

บอร์ด รฟท.รับทราบหลักการแก้ไขสัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ตัดเงื่อนไขบีโอไอ ซี.พี.ยอมวางแบงก์การันตีเพิ่มกว่า1.2 แสนล้านบาท แลกแบ่งจ่ายแอร์พอร์ตลิงก์ 7 งวด และรัฐจ่ายค่าร่วมทุนเร็วขึ้นภายในปีครึ่ง”สร้างไป-จ่ายไป” ยันรัฐไม่เสียประโยชน์ เร่งชงบอร์ดอีอีซี และ ครม.แก้สัญญา คาดออก NTP ปลายปี 67 ก่อสร้าง 5 ปี

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน วันนี้ (23 พ.ค. 2567) ได้รับทราบข้อสรุปผลการเจรจาเรื่อง หลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตามที่ รฟท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด) คู่สัญญาผู้รับสัมปทานฯ ในการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ โดยขั้นตอนจากนี้จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับสัญญาฯ ตามมาตรา 19 ของประกาศอีอีซี และ สกพอ.เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบการแก้ไขหลักการ สัญญาต่อไป ทั้งนี้ การเจรจาแก้ไขสัญญาอยู่ภายใต้หลักการภาครัฐ จะต้องไม่เสียผลประโยชน์มากเกินกว่าที่อยู่ในกรอบสัญญา และเอกชนจะไม่ได้รับผลประโยชน์เกินควร

สำหรับการแก้ไขสัญญา มี 4 ประเด็น คือ 1. ประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) โดย รฟท.ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งกพอ.ได้เห็นชอบและรายงานครม.รับทราบไปก่อนหน้านี้แล้ว

2. เงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ (PIC) คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันไม่น้อยกว่า 119,425 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้รัฐร่วมลงทุนในปีที่ 6-ปีที่ 15 หรือเมื่อก่อสร้างโครงการเสร็จเปิดเดินรถแล้ว แต่เนื่องจากการดำเนินงานมีปัญหาอุปสรรค ทั้งโรคโควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงิน อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เอกชนไม่สามารถกู้เงินได้ จึงเสนอแก้ไข ปรับการจ่ายเงินที่ฝ่ายรัฐร่วมลงทุนให้เร็วขึ้น เป็นเดือนที่ 18 หรือประมาณ 1 ปีครึ่ง นับจากออก NTP ซึ่งจะเป็นการปรับจากรัฐจ่ายร่วมลงทุนเมื่อโครงการเสร็จเป็น สร้างไป-จ่ายไป

  • รฟท.และ สกพอ.เจรจาให้ทางเอกชน วางหนังสือค้ำประกันโดยธนาคารสัญญาหรือแบงก์การันตี เพิ่มเติมอีก 2 ส่วน คือ 1. แบงก์การันตีในส่วนของค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท เพื่อยืนยันกรณีแบ่งจ่ายค่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากงวดเดียวเป็น 7 งวด โดยเมื่อแก้ไขสัญญา เอกชนจ่ายงวดแรก 1,067 ล้านบาท และวางแบงก์การันตีที่เหลือประมาณ 9,600 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมทางการเงินอื่นๆ ที่ต้องจ่ายจากการผ่อนชำระจะแยกจ่ายอีกส่วนหนึ่งในแต่ละงวด ทั้งนี้หลังลงนามแก้ไขสัญญา เอกชนต้องชำระค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์งวดแรกทันที 2 .แบงก์การันตี ในส่วนของเงินฝ่ายรัฐร่วมลงทุน วงเงิน 119,425 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ภาครัฐต้องการความมั่นใจว่าเอกชนคู่สัญญาจะสามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ กรณีปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินภาครัฐจากปีที่ 6 เป็นสร้างไปจ่ายไป โดยวางแบงก์การันตีภายใน 270 วันหลังลงนามแก้ไขสัญญา
    4. เงื่อนไขออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ที่ระบุให้เอกชน ผู้รับสัมปทานฯ ต้อง ขอส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อนนั้น เนื่องจากเลยระยะเวลาและขั้นตอนการขอสิทธิประโยชน์แล้ว และเจรจาเอกชนตกลงตัดบีโอไอออกจากเงื่อนไขการออก NTP ของสัญญาร่วมลงทุนฯ
    นายอนันต์กล่าวว่า การเจรจาได้ข้อยุติและนำเสนอตามขั้นตอนครบถ้วนมีการนำเสนอร่างสัญญาฉบับแก้ไข และลงนามแก้ไขสัญญาเสร็จสิ้น รฟท.ออกหนังสือเริ่มงาน หรือ NTP ได้ภายในปลายปี 2567 จะเป็นการเริ่มต้นหรือคิกออฟโครงการ ซึ่งรฟท.มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนทั้ง 100% แล้ว โดยจะเร่งรัดให้ก่อสร้างในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อโครงการอื่น เช่น โครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟไทย-จีน และการเชื่อมเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภทที่ต้องก่อสร้างลอดใต้รันเวย์เป็นต้น โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี นับจากปี 2567 แล้วเสร็จปี 2572

สำหรับงานก่อสร้าง ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งมีโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน สัญญา 4-1 นั้น ทางเอเชีย เอรา วัน ดำเนินการก่อสร้างตามเงื่อนไขเดิมที่กำหนดให้ ทางไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินดำเนินการก่อสร้างฐานรากตอม่อ และโครงสร้างทางวิ่ง เป็นการทำงานตามสัญญาดังนั้นจึงไม่ต้องแก้ไขใดๆ ส่วนงาน 4-1 ของรถไฟไทย- จีน ถือเป็นงานเพิ่มเติม (VO) ที่ทางรถไฟไทย-จีนจะเพิ่มกรอบวงเงินในส่วนนี้ให้ไปประมาณ 4,000 ล้านบาท

“การเจรจาที่ได้ข้อยุติครั้งนี้มีความชัดเจน มากกว่าครั้งก่อน ที่เสนอว่าจะปรับเงื่อนไขการร่วมลงทุนของรัฐจากปีที่ 6 เป็น สร้างไปจ่ายไป แต่ไม่มีอะไรรับรอง ครั้งนี้มีหลักการและการรับรอง ที่กำหนดให้เอกชนวางแบงก์การันตีเพิ่มเติม ที่มีความมั่นใจทั้งภาครัฐและเอกชนว่าจะดำเนินการโครงการสำเร็จตามเป้าหมาย จึงสรุปนำเสนอ กพอ.และครม.เห็นชอบแก้ไข เพื่อแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง”

The End

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ไดเรกทอรีไทย-จีน

ลงประกาศได้แล้ววันนี้
Latest News
Categories

Subscribe our newsletter

Purus ut praesent facilisi dictumst sollicitudin cubilia ridiculus.