ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและความร่วมมือไทย-จีนในการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่งคั่งในภูมิภาค รวมทั้งหารือเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาค และความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง นอกจากนี้ รัฐมนตรีได้ขอรับการสนับสนุนจากจีนในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS ของไทยด้วย
การประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิก BRICS และประเทศกำลังพัฒนารวม 22 ประเทศเข้าร่วม โดยที่ประชุมได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางที่กลุ่ม BRICS ในฐานะการรวมกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดใหม่ขนาดใหญ่ในการส่งเสริมบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในประเด็นระดับโลก เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบพหุภาคี การปฏิรูประบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้มีความเป็นธรรมและสนับสนุนการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น และการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงของโลก
การประชุมครั้งนี้เป็นการเข้าร่วมการประชุมระดับสูงในกรอบ BRICS ครั้งที่ 5 ของประเทศไทย ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมดังกล่าว แสดงความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยไทยในฐานะเป็นสะพานเชื่อม (Bridge builder) กับกลุ่มประเทศต่างๆ ในโลก จะสามารถส่งเสริมให้ BRICS เป็นกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น และร่วมกับ BRICS ในการผลักดันผลประโยชน์ร่วมของประเทศกำลังพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้เสนอแนะแนวทางความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่าง BRICS กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงาน ความมั่นคงอาหาร การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS เป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ปัจจุบัน มีสมาชิก 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ไทยสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ทั้งการขยายความสัมพันธ์ทวิภาคีทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิก BRICS โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงอาหาร และความมั่นคงพลังงาน และส่งเสริมบทบาทของไทยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการเชิงรุกของไทยในกรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น อาเซียน (ASEAN) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) กรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue : ACD) สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association : IORA) และกลุ่ม 77 (G77)