ผู้สูงวัยไทยกว่า 1.3 ล้านคนเสี่ยง “ตายโดดเดี่ยว”

Picture of Admin, JOE
Admin, JOE

ประเทศไทยเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”​ (Aged Society) ไปแล้วในปี 2566 ซึ่งข้อมูลอัพเดต ณ สิ้นปี 2566 ไทยมีประชากรสูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 13,064,929 คน คิดเป็นสัดส่วน 20.08% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ตรงตามนิยาม “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”​ ซึ่งหมายถึงมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วน 20% ขึ้นไป 

ปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมสูงวัยที่น่ากังวล คือ ผู้สูงวัยจำนวนมากต้องอาศัยอยู่ตัวคนเดียว หรืออาศัยอยู่ในบ้านที่มีเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างเลี่ยงได้ยากที่พวกเขาจะกลายเป็น “ผู้สูงวัยที่มีความเปราะบาง” ทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม อีกทั้ง มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะมีจุดจบเป็นการ “เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว” ซึ่งตามนิยามคือ เสียชีวิตโดยไม่มีใครรู้ใครเห็นเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนจะมีการพบศพ หรือสำหรับหลาย ๆ คน อาจจะผ่านไปนานเป็นปีหรือหลายปีก็ยังไม่มีใครทราบว่าเขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว 

ปรากฏการณ์เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไม่มีใครพบเห็น เกิดขึ้นมากในสังคมที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวจำนวนมาก ไม่ว่าจะเพราะมีวัฒนธรรมชอบอยู่ตัวคนเดียว หรือเพราะไม่มีครอบครัวหรือมีครอบครัวแต่ถูกคนในครอบครัวทอดทิ้ง 

ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในญี่ปุ่นเกิดปรากฏการณ์ผู้สูงอายุเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวปีละจำนวนมากต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเรียกเหตุการณ์แบบนี้ว่า “โคโดคุชิ” (Kodokushi) 

ล่าสุด มีข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น (NPA) พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2567 ในประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) ที่อาศัยอยู่เพียงลำพังเสียชีวิตลงอย่างโดดเดี่ยวจำนวน 17,034 ราย และคาดว่าทั้งปี 2567 นี้ จะมีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพังเสียชีวิตรวม 68,000 ราย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในสัดส่วนที่สูง 

เมื่อเห็นข้อมูลของญี่ปุ่นแล้วหันมามองดูประเทศไทยเราเองว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ก็พบว่า สถานการณ์ของไทยเราก็น่าห่วงเช่นกัน เพราะไทยมีประชากรผู้สูงวัยกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอยู่มากกว่า 1.3 ล้านคน 

กลุ่มเสี่ยงกลุ่มหลัก คือ “ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง” ณ สิ้นปี 2566 มีจำนวน 1,348,397 คน คิดเป็นสัดส่วน 10.32% ของผู้สูงอายุทั้งหมดในประเทศไทย สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 2563 ซึ่งมีสัดส่วน 7.3% ของผู้สูงอายุทั้งหมด

อีกกลุ่มที่เสี่ยง คือ “ผู้สูงอายุที่ดูแลกันเอง” หรืออยู่ในครัวเรือนที่มีเพียงผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสามีกับภรรยา ณ สิ้นปี 2566 มีอยู่จำนวน 610,405 คน คิดเป็นสัดส่วน 4.67% ของผู้สูงอายุทั้งหมด สัดส่วนลดลงจากปี 2563 ที่มีสัดส่วน 5.9% 

ในกลุ่ม “ผู้สูงอายุที่ดูแลกันเอง” นี้ หากผู้สูงอายุในบ้านเสียชีวิตไปจนเหลือผู้สูงอายุคนสุดท้ายของบ้าน ผู้สูงอายุที่มีชีวิตอยู่คนสุดท้ายก็เสี่ยงที่จะขยับไปเป็นกลุ่ม “ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง” ดังจะเห็นได้ว่า สัดส่วนผู้สูงอายุที่ดูแลกันเองในปี 2566 ลดลงจากสัดส่วนในปี 2563 การลดลงตรงนี้สะท้อนว่ามีคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตไป ทำให้สัดส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า ปลายทางของผู้สูงอายุในกลุ่ม “ผู้สูงอายุที่ดูแลกันเอง” จำนวนหนึ่ง ก็อาจจะเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ถ้านับจำนวนคนที่เสี่ยงในกลุ่มนี้ด้วย ตัวเลขก็น่าจะมากกว่า 1.5 ล้านคน

มีข้อมูลเชิงสถิติเผยให้เห็นว่า ผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยตามลำพังคนเดียว และผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังกับคู่สมรสเท่านั้น มีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา 

งานวิจัยเรื่อง “การดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือนซึ่งมีรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลายในสังคมไทย เพื่อประเมินความเข้มแข็งและความต้องการสนับสนุนของครัวเรือน” จัดทำโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ในปี 2513 ผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยตามลำพังคนเดียวมีสัดส่วน 3.7% ของผู้สูงอายุทั้งหมด ในขณะที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ลำพังกับคู่สมรสเท่านั้นมีสัดส่วน 6.3% ต่อมาในปี 2550 สัดส่วนเพิ่มเป็น 8.4% และ 10.8% ตามลำดับ พอมาถึงปี 2560 สัดส่วนเพิ่มขึ้นไปเป็น 16.3% และ 20.8% ตามลำดับ 

ข้อมูลจากรายงานยังเผยให้เห็นด้วยว่า ผู้สูงอายุในเขตเมืองอาศัยอยู่คนเดียวมากกว่าผู้สูงอายุในเขตชนบท ส่วนภูมิภาคที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวหรือผู้สูงอายุอาศัยอยู่ลำพังกับคู่สมรสโดยไม่มีลูกหลานอยู่ด้วยมากที่สุด คือ ภาคเหนือ 

ทั้งนี้ แม้ว่าการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไม่มีผู้พบเห็นจะเป็นภาพที่ชวนหดหู่ใจมากก็ตาม แต่สำหรับตัวผู้สูงอายุเอง ทั้งที่อาศัยอยู่ตามลำพังและที่มีเพียงคู่สมรสหรือพี่น้องที่เป็นผู้สูงอายุดูแลกันเองนั้น การดำรงชีพระหว่างทางที่พวกเขามีชีวิตอยู่นั้นน่าห่วงยิ่งกว่าการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เพราะระหว่างที่มีชีวิตอยู่ พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากทั้งด้านร่างกายและเศรษฐกิจ เนื่องจากสมรรถภาพร่างกายเสื่อมถอยไปตามวัย ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันและดูแลปรนนิบัติตนเองได้เหมือนตอนอายุน้อย อีกทั้ง ความสามารถในการหารายได้ก็เสื่อมถอยไปด้วย และเมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา ก็จะกลายเป็นทั้งปัญหาสุขภาพและปัญหาทางการเงินไปพร้อมกัน 

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังคนเดียวหรืออาศัยอยู่เฉพาะกับผู้สูงอายุด้วยกันนั้นต้องการการดูแลทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ซึ่งหากประเทศไทยสามารถตอบโจทย์ทั้งหมดนี้ได้ดีพอ ก็น่าจะคาดหวังได้ว่าผู้สูงอายุในไทยคงไม่ถูกปล่อยให้ “ตายอย่างโดดเดี่ยว” เป็นจำนวนมากนัก แต่คำถามคือ ไทยจะตอบโจทย์ที่ว่านี้ได้สำเร็จหรือไม่ ?

The End

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ไดเรกทอรีไทย-จีน

ลงประกาศได้แล้ววันนี้
Latest News
Categories

Subscribe our newsletter

Purus ut praesent facilisi dictumst sollicitudin cubilia ridiculus.