คณะนักวิจัยจากสถาบันระบบอัตโนมัติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และบริษัท ซินเซนส์ เอจี คอร์เปอเรชัน (SynSense AG Corporation) ในสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมพัฒนาชิปประมวลผลนิวโรมอร์ฟิก (neuromorphic) แบบประหยัดพลังงาน ซึ่งเลียนแบบการทำงานของเซลล์ประสาทและจุดประสานประสาทในสมองมนุษย์
รายงานระบุว่า คณะนักวิจัยสร้างชิปแบบอะซิงโครนัส (asynchronous) หรือมีชื่อว่า “สเปก” (Speck) ซึ่งใช้พลังงานขณะพักการทำงานในระดับต่ำมากเพียง 0.42 มิลลิวัตต์ บ่งชี้การที่เกือบจะไม่ใช้พลังงานเลยหากไม่มีการป้อนข้อมูลเข้าไป
ทีมนักวิทยาศาสตร์คิดค้นกรอบการทำงานของชิปตามความสนใจ โดยเลียนแบบลักษณะ “ความไม่สมดุลเชิงพลวัต” ของโครงข่ายประสาทที่ถูกกระตุ้นอย่างรวดเร็วในสมอง ซึ่งมักให้ความสนใจกับสิ่งเร้าภายนอกที่มีนัยสำคัญมากกว่า
กรอบการทำงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการทางอัลกอริทึมของการประมวลผลเชิงพลวัต ซึ่งใช้พลังงานแบบเรียลไทม์ในระดับต่ำเพียง 0.70 มิลลิวัตต์ โดยความคืบหน้านี้อาจนำเสนอแนวทางอัจฉริยะที่เลียนแบบสมอง ซึ่งประหยัดพลังงานอย่างมาก ระยะเวลาแฝงต่ำ และลดการใช้พลังงาน ในการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์
อนึ่ง สมองของมนุษย์ซึ่งสามารถประมวลผลโครงข่ายประสาทที่ซับซ้อนและกว้างขวางอย่างไม่น่าเชื่อ ทำงานด้วยการใช้พลังงานทั้งหมดเพียง 20 วัตต์ ซึ่งต่ำกว่าระบบปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันอย่างมาก ดังนั้นการสร้างการประมวลผลคล้ายสมองหรือชิปนิวโรมอร์ฟิกอาจเป็นเครื่องมืออัจฉริยะที่ประหยัดพลังงานอันน่าสนใจ