สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ของจีนรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2024 ธนาคารกลางของจีน (People’s Bank of China) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นธนาคารกลางของไทย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมทวิภาคีด้วยสกุลเงินท้องถิ่น
ธนาคารประชาชนจีนหรือธนาคารกลางของจีนระบุว่า บันทึกความเข้าใจดังกล่าวลงนามโดย พานกงเซิ่ง (Pan Gongsheng) ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ว่าการธนาคารกลางทั้งสองได้พบปะหารือกัน ณ กรุงปักกิ่งของจีน และแลกเปลี่ยนมุมมองต่อความร่วมมือทางการเงินระดับทวิภาคี ตลอดจนประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของ ธปท.ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศทางการเงินให้เอื้อต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า ในปีหลัง ๆ มานี้ จีนใช้สกุลเงินหยวนของตนเองในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อที่จะลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และผลักดันให้เงินหยวนขึ้นไปเป็นสกุลเงินหลักของโลก พร้อมกันนั้นก็ได้ส่งเสริมให้พันธมิตรและคู่ค้าของจีนใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมมากขึ้น อย่างเช่น รัสเซีย อินเดีย และประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มบริกส์ (BRICS) สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยในครั้งนี้ คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของจีนเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนั้น