จีนแห่ลงทุนนิคมอุตฯยกแปลง “WHA-อมตะ” วิ่งซื้อที่ดินเพิ่ม

Picture of Admin aek
Admin aek

สงครามการค้าถล่ม “ทุนจีน” วิ่งวุ่นย้ายฐานหันซบไทย ส้มหล่น “นิคมอุตสาหกรรม WHA-อมตะ-304” ขายที่อู้ฟู่ ต้องกว้านหาที่ดินผืนใหญ่ป้อนนักลงทุนไม่พอขาย “จรีพร” จ่อปิดดีลบิ๊กครอป Tech จากจีน ก.ค.นี้ จับตา “อมตะ” ลุยหาที่ดินปั้นนิคมจีนเฟส 2 ต่อ ส่วนนิคม 304 ชี้สัญญาณกลุ่มทุนอิเล็กทรอนิกส์จีนบุกต่อเนื่องตั้งแต่ปี’66 กว้านซื้อที่นับพันไร่

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางภายหลังการฟื้นตัวจากโควิด และปัญหาจีโอโพลิติกส์ทั่วโลกดันให้นักลงทุนโกลบอลขยับย้ายฐาน เป็นอานิสงส์ต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรก ปี 2567 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 460 โครงการ เพิ่มขึ้น 130% มูลค่าเงินลงทุนรวม 169,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16%

โดยจีน มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุดอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ 42,539 ล้านบาท ที่มาเป็นอันดับ 1 ขณะที่ตามติดมาด้วย อันดับ 3 ฮ่องกง 26,573 ล้านบาท ไต้หวัน 19,960 ล้านบาท และออสเตรเลีย 17,248 ล้านบาท บรรยากาศการลงทุน FDI ที่คึกคักต่อเนื่องส่งผลดีต่อธุรกิจ “การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม” และราคาที่ดินในพื้นที่

กนอ.ชี้โอกาสดึงลงทุนคึกคัก
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ด้วยประเทศไทยเป็นเป้าหมายของนักลงทุนมาโดยตลอด เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม ทำให้ช่วงที่ผ่านมีนักลงทุนจีนสนใจเข้ามาดูพื้นที่เพื่อลงทุนมากขึ้น รวมถึงการหาพื้นที่เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมองได้ 2 แง่คือ ผู้ประกอบการจะมีทางเลือกจากการที่มีนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะที่จะซัพพอร์ตนักลงทุนจีนด้วยกันเอง

และอีกมุมก็คือ จะยิ่งทำให้ผู้พัฒนานิคมแข่งขันกัน พัฒนาพื้นที่ให้ดีเพราะมีคู่แข่งเข้ามาเพิ่ม แต่อย่างไรก็ตาม กนอ.ไม่ได้มองว่า “นี่คือคู่แข่ง” เพราะยังเชื่อว่า ผู้พัฒนานิคมในประเทศที่มีอยู่ “เก่งและเชี่ยวชาญอยู่แล้ว” ซึ่งปัจจุบันนิคมในไทยมีถึง 69 แห่ง

ทุกแห่งเป็น “นิคมสีเขียว” มีความพร้อมที่จะรองรับนักลงทุน ทุกอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะ “สมาร์ทปาร์ค จ.ระยอง” ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนอย่างมาก และแน่นอนว่าการที่รัฐบาลออกไปโรดโชว์ ยิ่งจะเป็นส่วนดึงดูดการลงทุนในครึ่งปีหลังให้คึกคักขึ้น

WHA เตรียมปิดดีลจีน
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA Group กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากการเดินทางออกไปโรดโชว์ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ทำให้สามารถดึงดูดนักลงทุนให้สนใจประเทศไทย

โดยในส่วนของ WHA ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขายที่ดินกับลูกค้าจากจีนในหลาย ๆ บริษัท คาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปภายในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นกลุ่ม Tech ซึ่งยังไม่สามารถระบุชื่อได้ จะมีการจัดหาที่ดินหลายร้อยไร่

“นักลงทุนที่เข้ามาส่วนใหญ่ต้องการให้นิคมจัดหาพลังงานสะอาดรองรับ ซึ่งทาง WHAUP เตรียมพร้อมเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดโดยเฉพาะโซลาร์ ซึ่งปีนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 300 กว่าเมกะวัตต์ (MW) เป็น 450 MW ซึ่งจะตอบโจทย์นักลงทุนได้

โดยเฉพาะนักลงทุนที่ต้องการส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในตลาดยุโรปจะต้องผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรการ CBEM หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสหภาพยุโรป ทำให้ลูกค้าต้องการเรื่องนี้ เราจัดหาให้เป็น Renewable 100% หรือ RE100 ได้ แต่ยังไม่ถึง 24 ชม. อาจจะเฉพาะเดย์ไทม์ แต่ก็ต้องบอกว่า เราทำให้ได้ ถ้าลูกค้าต้องการระบบกักเก็บพลังงาน เพียงแต่ต้นทุนยังสูงอยู่

เช่นโซลาร์อาจจะ 2 บาทกว่า ถ้าบวกระบบกักเก็บพลังงานอาจจะเป็น 4 บาทกว่า ขึ้นกับลูกค้าจะตัดสินใจอย่างไร อาจจะเริ่มจากโซลาร์ก่อน และในอนาคต WHA อยู่ระหว่างศึกษาและมีแผนจะทำการกักเก็บคาร์บอน (CCS) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตคงใกล้กับเป้าหมาย Net Zero 2050”

อย่างไรก็ตาม ผลจากการเข้ามาของนักลงทุนจีนมีส่วนสำคัญในการผลักดันเป้าหมาย “ยอดขาย” ที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในปี 2567 รวม 2,275 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นยอดขายที่ดินในประเทศไทย 1,650 ไร่ ส่วนในเวียดนาม 625 ไร่ ทำให้มีผลประกอบการเติบโตมากขึ้น

จากที่ล่าสุดไตรมาส 1 รายงานกำไรสุทธิที่ 1,365 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 161% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 3,776 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 56% และกำไรปกติ 1,284 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 154% จากอัตราการเติบโตของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจที่สร้างผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นางสาวจรีพรกล่าวว่า แผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทได้วางงบประมาณไว้ 25,000 ล้านบาท ซึ่งครึ่งหนึ่งจะเป็นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเดิมเพิ่มเติมและซื้อที่ดินเพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกครึ่งหนึ่งจะเป็นการพัฒนาระบบกรีนโลจิสติกส์และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (SMART ECO Industrial Estates) การบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบวงจร

สำหรับภาพการขยายการลงทุนของนักลงทุนจีนที่ขยายเข้ามาใน WHA ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด หนึ่งในกลุ่มยานยนต์ชั้นนำ 4 กลุ่มของจีน จำนวน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 ของ WHA Group บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเมื่อปลายปี 2566

อมตะรับทุนจีนทะลัก
เช่นเดียวกับ อมตะ คอร์ปอเรชัน ก็ได้รับผลดีจากการลงทุนของนักลงทุนจีนขยายมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ปี 2566 สามารถทำยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้ 1,800 ไร่ สร้างรายได้นับหมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% และมีกำไรถึง 1,900 ล้านบาท และปี 2567 นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร ได้วางเป้าหมายให้เพิ่มยอดขายให้ได้ 4,000 ไร่ พร้อมพัฒนาระบบสาธารณูปโภคทั้งน้ำและไฟฟ้าคาร์บอนต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุนทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรมและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีก่อนบริษัทมียอดขายที่ดิน 1,800 ไร่ แต่ปีนี้ได้กำหนดเป้าหมาย 4,000 ไร่ โดยแนวโน้มนักลงทุนปีนี้จะมีมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก

โดยเฉพาะ “นักลงทุนจีน” ซึ่งเดิมบริษัทได้พัฒนา “นิคมอมตะซิตี้ ระยอง” เพื่อรองรับนักลงทุนจีน หรือที่เรียกว่า “นิคมไทย-จีน” มีพื้นที่ 15,000 ไร่ ตอนนี้ขายหมดแล้วและอยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่เพิ่มอีกประมาณ 2,000 ไร่ เพื่อรองรับนักลงทุนจีน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

“ความยากของการพัฒนาที่ดินนิคมก็คือ การหาพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่เชื่อมต่อกัน อย่างกรณีของเทสลา ซึ่งให้ความสนใจเข้ามาลงทุนขอเป็นคลัสเตอร์ เหมือนที่ โตโยต้า บ้านโพธิ์ ซึ่งไม่อยู่ในนิคม 1,000 กว่าไร่ จำนวนที่เทสลาขอ 2,000 ไร่ แต่การจะไปหาพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ยกตัวอย่างที่ออฟเฟอร์ให้เทสลาตรงสมาร์ทซิตี้ แต่มีเพียง 1,500 ไร่ แต่ไม่เชื่อมติดเป็นแปลงเดียวกัน ซึ่งการที่จะมีที่ดินขนาด 1,000-2,000 ไร่แปลงเดียวนั้น ยากมาก แต่เงื่อนไขเทสลาต้องหาพื้นที่อยู่ใน EEC เพื่อจะได้รับมาตรการส่งเสริมการลงทุน” ดร.วิวัฒน์กล่าว

นิคม 304 ไม่พอขายด้วย
สอดคล้องกับแหล่งข่าวจาก สวนอุตสาหกรรม 304 กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นักลงทุนจีนขยายการลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่องหลังจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ที่ดินที่มีอยู่ไม่เพียงพอขาย ปีก่อนมีนักลงทุนประมาณ 1,000 กว่าไร่ เป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมา ซึ่งกว่าจะทำ EIA คงจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

The End

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ไดเรกทอรีไทย-จีน

ลงประกาศได้แล้ววันนี้
Latest News
Categories

Subscribe our newsletter

Purus ut praesent facilisi dictumst sollicitudin cubilia ridiculus.