คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้พิสูจน์ประสิทธิภาพของการรักษาด้วยอินซูลินตั้งแต่ระยะเริ่มแรกสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (T2D) ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง และการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รักษาด้วยอินซูลิน
ทีมวิจัยร่วมที่นำโดยศาสตราจารย์เวิงเจี้ยนผิงจากมหาวิทยาลัยการแพทย์อันฮุย ร่วมกับคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน มหาวิทยาลัยแพทย์หนานฟาง และมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ทำการศึกษาเชิงสังเกตเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 5,424 รายทั่วประเทศเป็นเวลา 24 ปี
คณะนักวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งอยู่ภายใต้การรักษาด้วยอินซูลิน มีความเสี่ยงป่วยโรคหลอดเลือดสมองลดลงร้อยละ 31 และมีความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวลดลงร้อยละ 28
การศึกษาครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพของการรักษาด้วยอินซูลินตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเพื่อปรับปรุงดัชนีชี้วัดทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับภาวะการอักเสบแบบอ่อน (low-grade inflammation) และการทำงานของเซลล์บุผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
สิ่งนี้เป็นหลักฐานที่น่าสนใจสำหรับการประยุกต์ใช้วิธีการรักษาด้วยอินซูลินตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อเป็นทางเลือกการรักษาทางเลือกแรกสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัย
อนึ่ง ผลการวิจัยครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารนานาชาติซิกแนล ทรานส์ดักชัน แอนด์ ทาร์เก็ต เธอราปี (Signal Transduction and Targeted Therapy) ในเดือนมิถุนายน